ปวดหัว ปวดท้ายทอย กล้ามเนื้อตึง ไมเกรน
EP.1 จ้องจอทีไรปวดหัว ปวดท้ายทอยทุกที เป็นแบบนี้บ่อยๆ แค่กล้ามเนื้อตึงหรือว่าเป็นไมเกรนกันนะ
ปวดต้นคอขึ้นหัวถึงขมับข้างเดียว เวลาจ้องจอคอม ขอโทรศัพท์แป็นเวลานาน จะเป็นไมเกรนหรือแค่กล้ามเนื้อตึงกันแน่ คงมีใครหลายคนสงสัยว่าภาวะสองอย่างนี้มีสาเหตุต่างกันอย่างไรและอาการเป็นอย่างไร วันนี้เรามาทำความรู้จักและลองประเมินอาการตัวเองเบื้องต้นดูกันก่อนนะคะ
มาทำความเข้าใจอาการปวดหัวจากไมเกรนกันก่อนค่ะ อาการปวดหัวจากไมเกรนเกิดจากความผิดปกติของการกระตุ้นเซลล์ประสาท และการบีบตัว คลายตัวของหลอดเลือดในสมองมากกว่าปกติ สาเหตุมักจะมาจากความเครียด การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ มีสิ่งกระตุ้นอาการเช่น สี แสง เสียง กลิ่น รส หรือความร้อน เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวตุ๊บๆ ข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วยเช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ อ่อนแรง ชา เป็นต้น
ส่วนอาการปวดศีรษะจากภาวะกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่มีความตึงตัว จากการเกร็งตัวมากทำให้มีอาการปวดร้าวขึ้นศีรษะได้ รวมถึงกล้ามเนื้อคอบ่า เกิดความไม่สมดุลกัน การผิดท่าทางในอริยาบถ การออกกำลังกาย ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคนี้ ทางกายภาพบำบัดเราจะเรียกว่าโรค Myofascial pain syndrome หรือคุ้นหูกันดีในชื่อ ออฟฟิศซินโดรม Office syndrome พบได้ในกลุ่มคนที่ต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ใช้โทรศัพท์ หรือลักษณะงานที่ต้องต้องก้มศีรษะและคอยื่นเป็นเวลานาน กล้ามเนื้อที่มีการหดรัดตัวเป็นเวลานาน ทำให้หลอดเลือดหดตัว การไหลเวียนของเลือดและสารอื่นๆ ติดขัด สารอาหารที่ดีก็เข้าไม่ถึง เกิดเป็นก้อนผังผืดกดเจ็บและมีอาการร้าวไปยังบริเวณอื่นได้เช่น ขึ้นศีรษะ ลงแขน
ผู้ป่วยไมเกรนสามารถมีภาวะกล้ามเนื้อคอบ่าไหล่ตึงร่วมด้วยได้ แต่ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะมาจากความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ไม่ได้ได้หมายความว่าผู้ป่วยจะมีภาวะไมเกรนร่วมนะคะ ทั้งนี้แนะนำพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสมค่ะ
EP.2 จ้องจอทีไรปวดหัว ปวดท้ายทอยทุกที เป็นแบบนี้บ่อยๆ คอยื่นกันอยู่หรือเปล่านะ?
เมื่อเราทราบว่าสาเหตุของอาการปวดศีรษะของเรามาจากกล้ามเนื้อคอ บ่า ตึงตัวกันแล้ว แล้วมันตึงและเกร็งตัวมากขึ้นได้อย่างไรกันล่ะ เพื่อนๆเคยได้ยินคำว่า ภาวะศีรษะยื่น (Head forward posture) หรือ ไหล่ห่อคอยื่น กันมั้ยคะ แน่นอนว่าขณะที่แอดมินกำลังเขียนบทความนี้ แอดมินก็กำลังประสบปัญหาของภาวะปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงเช่นกันค่ะ อันที่จริงเรามีอาการเวียนศีรษะด้วยนะ ทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นเลย สาเหตุสำคัญเลยคือการทรงท่าทางขณะนั่งที่ไม่ดี ทั้งก้มหน้าและคอยื่นอีกด้วย อีกทั้งเคยพบนักกายภาพที่พีบีคลินิก ตรวจร่างกายฟรี ลองดูสักหน่อยว่าปัญหาอาการปวดศีรษะบ่อยๆแบบนี้ เกิดจากอะไรได้อีก ก็ทำให้รู้ซึ้งและพบว่า กล้ามเนื้อคอบ่ากำลังทำงานไม่สมดุลกันค่ะ
มาเข้าใจกันก่อนกับภาวะศีรษะยื่นไปทางด้านหน้า หรือ Head forward posture ภาวะนี้เกิดจากการที่โครงสร้างกระดูกสันหลังส่วนคอเรียงตัวผิดปกติ บางคนมีอาการแสดงตั้งแต่ ปวดคอ ปวดหัว ปวดหลัง ปวดไหล่ หรือบางคนมีอาการชาร้าวจากต้นคอลงไปยังแขนเลย
ภาวะศีรษะยื่นไปด้านหน้า ส่งผลให้กล้ามเนื้อคอทำงานไม่สมดุลกันโดยบางมัดอาจมีภาวะตึง บางมัดอาจมีภาวะอ่อนแรง ส่งผลให้การกระชับของตัวข้อต่อกระดูกหลังส่วนคอลดลง และส่งผลต่อความมั่นคงของคอและศีรษะ เมื่อศีรษะยื่นไปด้านหน้าเท่าไหร่ หลอดเลือดและเส้นประสาทอาจถูกกดทับมากเท่านั้น ส่งผลให้ผู้ป่วยบางคนมีอาการ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เริ่มมีอาการชา จนถึงรุนแรงคือมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากเส้นประสาทบริเวณคอถูกกดทับ
การดูแลรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอบ ปวดศีรษะ และเวียนศีรษะ
- ลดอาการปวดของกล้ามเนื้อ โดยใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดเช่น Hot pack, Ultrasound, Laser, Electrical stimulation
- ลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ รวมถึงเส้นประสาทโดยว๊ะการยืดกล้าเนื้อ กดจุดคลายกล้ามเนื้อ และขยับดัดดึงข้อต่อโดยเทคนิคหัตถการของนักกายภาพบำบัดที่พีบีคลินิก
- อกกำลังกายเฉพาะบุคคล เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความมั่นคงของข้อต่อ เพื่อปรับให้กะดูกสันหลังส่วนคออยู่ในแนวปกติ
แหล่งอ้างอิง
- เพชรไพลิน พงษ์บริบูรณ์. (2562). ไมเกรน: 3 มิติ(Migraine: 3D). วารสารวิชาการเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์.[อินเตอร์เน็ต]. 2562 [เข้าถึงเมื่อ 9 สิงหาคม 2566]. เข้าถึงได้จากhttps://ccpe.pharmacycouncil.org/index.php?option=article_detail&subpage=article_detail&id=645
- วีธรา ฉั่น. (2565). เวียนศีรษะจากคอยื่น. [อินเตอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 9 สิงหาคม 2566]. เข้าถึงได้จาก https://pt.mahidol.ac.th/knowledge/?p=2753
- เพ็ญพิชชา ลิขิตสุวรรณ. (2564). หลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น ภัยเงียบตัวร้ายที่ไม่ควรมองข้าม. [อินเตอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 9 สิงหาคม 2566]. เข้าถึงได้จาก https://pt.mahidol.ac.th/knowledge/?p=1985